โรคแพนิค คือ อะไร? และลักษณะอาการ แล้วจะมีโอกาสเป็นบ้าหรือไม่?
โรคแพนิค (Panic Disoder) คือ ภาวะตื่นตระหนกหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีโดยไม่คาดคิดมาก่อนต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งโรคนี้แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย อาการแพนิคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งอาการแต่ละครั้งจะเป็นอยู่เพียงไม่นานก็จะหายไป และอาการจะมีลักษณะกำเริบซ้ำ ๆ ได้อีกเป็นครั้งคราว จนทำให้ผู้ป่วยบางรายกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือกลัวว่าจะเสียชีวิต ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคแพนิครู้สึกกลัวและละอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ผู้ที่มีอาการแพนิค (Panic attacks) ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นโรคแพนิค (Panic disorder) เสมอไป หากมีอาการแพนิคเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ได้เกิดผลอะไรตามมาก็ไม่นับว่าเป็นโรคแพนิค (เช่น เครื่องบินสั่นมากตอนเจอสภาพอากาศที่ไม่ดี แล้วเกิดอาการขึ้นมา) เพราะในโรคแพนิคนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบซ้ำหลายครั้ง จนเกิดความกังวลว่าจะมีอาการนี้ขึ้นมาอีก กลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจ กลัวว่าจะเสียชีวิต กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะเป็นบ้า และอาจส่งผลทำให้ต้องเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าขับรถ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ป่วยโรคแพนิคที่มักเกิดอาการแพนิคหรือตื่นตระหนกอยู่เสมอเป็นเวลายาวนาน จะมีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ประกอบกับมีความกลัวต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงจะถือว่าเป็นโรคแพนิค (Panic disorder)
ผู้ป่วยโรคแพนิคมักมาพร้อมความกลัวที่ถูกฝังในสมอง โรคแพนิคอาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเองแบบกะทันหันอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น อาการกำเริบซ้ำบ่อย ๆ 10-20 นาที โดยอาการแพนิคนั้นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มความแรงถึงระดับสูงสุดภายใน 10 นาที ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยมักจะมีอาการเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาทีแล้วหายไป (ส่วนมากจะมีอาการแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที และมีน้อยรายมากที่จะมีอาการเกิดขึ้นนานเกิน 1 ชั่วโมง) โดยโรคแพนิคอาการที่เกิดขึ้นจะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ และไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสารใด ๆ โดยอาจจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในบ้าน หรืออยู่นอกบ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้อื่นก็ได้ หลังจากอาการแพนิคหาย ผู้ป่วยมักอ่อนเพลียและกังวลกลัวว่าจะเป็นอีก ซึ่งลักษณะอาการแพนิคจะมีตั้งแต่ 4 อย่างขึ้นไป ดังต่อไปนี้
- หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง ใจสั่น
- หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศ หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอกหรือแน่นในหน้าอก
- มือสั่น ตัวสั่น ขาสั่น เท้าสั่น
- เหงื่อออก เหงื่อแตกเต็มตัว
- รู้สึกหนาวสั่น มือเย็น หนาวขึ้นมาอย่างกะทันหัน หรือร้อนวูบวาบไปทั้งตัว
- เกิดอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า
- คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
- วิงเวียนศีรษะ มึนงง โคลงเคลง รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
- มึนชา ปวดเสียวตามตัว
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย กลัวตัวเองเป็นบ้า หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนร่างกายขยับไม่ได้
- รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ และอยู่คนเดียวไม่ได้
- กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นในอนาคต หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต
การเป็นโรคแพนิคแล้วจะมีโอกาสเป็นบ้าหรือไม่? ทั้งนี้ ยังไม่ค่อยพบว่าคนที่เป็นโรคแพนิคแล้วจะกลายเป็นโรคจิตเภทในภายหลัง แต่อาจจะพบภาวะอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ภาวะอะโกราโฟเบียหรือภาวะซึมเศร้า โดยอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia) หรืออาการกลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้เมื่อมีอาการกำเริบ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าที่จะไปไหนมาไหนเพียงคนเดียว เพราะถ้าจู่ ๆ เกิดมีอาการกำเริบขึ้นมาจะไม่มีใครช่วย และในส่วนของภาวะซึมเศร้านั้นจากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ถึง 60% โดยเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือตรวจมาหลายที่แล้วก็ยังไม่พบสาเหตุ (ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองผิดปกติแน่แต่ตรวจไม่พบ) จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย จนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช็กอาการ! เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?
โรคแพนิคพบได้ร้อยละ 3 ของประชากร มักพบได้บ่อยในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุ 17-30 ปี โดยผู้หญิงจะป่วยมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้มีอันตราย และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข บทความแนะนำ โรคทางจิตเวช ปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนมองข้าม
วิธีรักษาโรคแพนิค ยึดหลักองค์รวมด้วยการรักษาทางกายและใจควบคู่กัน
ผู้ป่วยโรคแพนิคที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการแพนิคน้อยลงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาโรคแพนิคประกอบด้วยการใช้ยา และการทำจิตบำบัดเพื่อปรับพฤติกรรมและความคิด การรักษาโดยยา ก็คือยาที่ใช้ในการรักษาเรื่องวิตกกังวล ร่วมกับยาคลายเครียดที่อาจต้องใช้เมื่อมีอาการรุนแรงจริง ๆ ในส่วนของการปรับพฤติกรรมนั้นจะมีตั้งแต่การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกด้านการหายใจ ฝึกปรับความคิดต่าง ๆ ซึ่งพบว่าจะช่วยลดอาการลงได้ โดยการรักษาแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ประวัติการรักษา ความรุนแรงของโรค และความพร้อมในการเข้ารับการรักษากับนักจิตบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
- รักษาทางกายด้วยการรับประทานยา เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ ผู้ป่วยโรคแพนิคจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการแพนิค โดยยาที่ใช้รักษาอาการดังกล่าวประกอบด้วยยาต้านซึมเศร้า กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยากันชัก ซึ่งยาแต่ละกลุ่มมีตัวยาที่ใช้รักษาโรคแพนิคต่างๆ เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะให้ยาแก้ซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) วันละครั้งหลังอาหารเช้า โดยเริ่มจากขนาดต่ำแล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มทีละน้อย และให้ยากล่อมประสาท เช่น อัลปราโซแลม (alprazolam) รับประทานนานติดต่อกัน 4-6 สัปดาห์ หากอาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลดยากล่อมประสาทจนเหลือยาแก้ซึมเศร้าอย่างเดียว หลังควบคุมอาการได้ดี จะยังคงให้ยาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จึงค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ โดยใช้เวลา 2-6 เดือน
- รักษาทางใจด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) ฝึกการคิดเชิงบวกและการเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน การทำจิตบำบัดเพื่อปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยต่อโรคแพนิคและอาการของแพนิค เช่น ฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติเมื่อเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม ฝึกคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ หรือปวดตึงกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น กาเฟอีน หรือน้ำอัดลม นอกจากการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดตามที่กล่าวมาแล้ว การฝึกลมหายใจและฝึกการคิดเชิงบวกก็ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ง่ายขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายพบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคหายใจถี่กว่าปกติ หากผู้ป่วยฝึกหายใจช้า ๆ จะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ การตั้งกลุ่มสนับสนุน (Support Groups) ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งได้รับคำแนะนำในการจัดการกับอาการป่วยได้อย่างเหมาะสม กลุ่มสนับสนุนถือเป็นช่องทางในการรักษาโรคแพนิคที่ดี เนื่องจากผู้ป่วยจะได้พบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน
การรักษาผู้ป่วยโรคแพนิคให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติได้ช้าหรือเร็วเพียงใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยด้วย โรคแพนิคนี้หากได้การรักษาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง อาการจะหายและกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แต่ถ้าขาดยาหรือไม่ยอมรักษาอย่างจริงจัง โรคแพนิคอาการมักเรื้อรัง ซึ่งผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคแพนิคก็มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก โดยเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยโรคแพนิคเป็นว่าไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำหรือเรียกร้องความสนใจ เข้าใจว่าเมื่อมีอาการผู้ป่วยจะกลัวและอาจส่งผลให้ตกอยู่ใน ภาวะของโรควิตกกังวล ร่วมด้วยได้ ซึ่งการให้กำลังใจและช่วยให้ผู้ป่วยโรคแพนิคมีสติจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
อ้างอิง
- 10 วิธีสุขใจ อยู่ร่วมโรคแพนิค พบ 4 อาการขึ้นไป เสี่ยงป่วยไม่รู้ตัวสูง. https://www.thairath.co.th/scoop/1983367
- ความหมาย โรคแพนิค. https://www.pobpad.com/โรคแพนิค
- โรคแพนิค (Panic disorder) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคแพนิค 9 วิธี. https://medthai.com/โรคแพนิค